Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...
Powered by Blogger.
RSS

โรคของสุนัขแรกเกิดถึง 4 เดือนที่ต้องเฝ้าระวัง

เรื่องควรรู้หากเราได้ลูกสุนัขมาใหม่อายุแรกเกิดถึง4เดือน เราอาจต้องระวังโรคภัยต่างๆที่จะเกิดกับน้องหมาของเราในระยะนี้ ซึ่งได้นำมาให้ได้ศึกษากันครับ

โรคและอาการป่วยของลูกสุนัขในระหว่างแรกเกิดถึงอายุ 4 เดือนที่พบบ่อย สามารถแบ่งได้ ดังนี้

1. โรคที่เกิดจากการติดเชื้อ (Infectious diseases)
2. โรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ (Non-infectious disease)
1. โรคที่เกิดจากการติดเชื้อ (Infectious disease)



1.1 โรคไข้หัดสุนัข (Canine Distemper)
เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส อาการรุนแรงมากในลูกสุนัขแรกเกิด แต่ก็สามารถพบโรคได้ทุกช่วงอายุ โดยอาการอาจแสดงเพียงการหายใจลำบากและอาการปอดบวม แล้วตายอย่างรวดเร็ว ในลูกสุนัขที่มีอายุมากขึ้น อาจมีอาการไข้ขึ้นสูงและลดต่ำสลับกันไป นอกจากนี้ยังมีอาการท้องเสีย มีน้ำมูกข้น มีขี้ตาแฉะ เริ่มแรกอาจมีอาการไอ ต่อมาเกิดปอดบวม เบื่ออาหาร ซึม และพบตุ่มหนองที่บริเวณหน้าท้อง ระยะต่อมาจะแสดงอาการทางประสาทให้เห็น
การติดต่อ  ทางการหายใจ และโดยการสัมผัสกับสิ่งขับถ่าย เช่น การกินสิ่งที่ติดเชื้อ น้ำมูก น้ำลาย ขี้ตา อุจจาระ และปัสสาวะ
การรักษา  โรคนี้ไม่มีการรักษาโดยตรง แต่ควรป้องกันโดย
1. การเลี้ยงดูที่ถูกสุขลักษณะ และได้รับอาหารที่มีคุณค่า และการระวังการติดต่อจากตัวป่วย
2. ทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรค ตามโปรแกรมที่กำหนดโดยเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฉีดวัคซีนในแม่สุนัขโดยสม่ำเสมอ ซึ่งจะมีผลต่อการถ่ายทอดภูมิคุ้มกันโรคผ่านทางนมน้ำเหลืองได้
3. หากมีอาการที่ผิดปกติเกิดขึ้น ควรปรึกษาสัตวแพทย์

1.2 โรคตับอักเสบติดต่อในสุนัข (Infectious Canine Hepatitis)
เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส โรคนี้เป็นได้กับสุนัขทุกอายุ แต่ลูกสุนัขที่เกิดใหม่จะตายได้ทันที โดยไม่แสดงอาการเฉพาะโรคให้เห็น โดยปกติอาการที่เจ้าของจะพบคือ ลูกสุนัขจะออกไปซุกตายซอกตามมุมแล้วร้องครวญครางจนกระทั่งตาย
ในช่วงหย่านมและลูกสุนัขรุ่น(Young adult) มักแสดงอาการแบบรุนแรงมาก เนื่องจากเชื้อไวรัสจะทำลายผนังชั้นในของเส้นโลหิต ทำให้เกิดอาการเลือดออกทั่วไป จนอาจทำให้ถึงภาวะช็อคได้
อาการแรกของการป่วยจะมีไข้สูง เบื่ออาหาร ซึม ต่อมาไข้ลดลงแล้วก็มีไข้อีก นอกจากนี้ยังมีอาการที่เด่นชัดคือ การถ่ายเป็นเลือด (ปริมาณเลือดที่ออกอาจเปลี่ยนแปลงได้) เยื่อเมือกต่างๆซีด มีจุดเลือดออกตามตัว เลือดจะแข็งตัวยาก ในลูกสุนัขจะแสดงอาการปวดท้อง อุจจาระมีเลือดปน น้ำตาไหล เยื่อตาอักเสบและมีตาขุ่น ในช่วงท้ายๆของโรค
การติดต่อ  ส่วนใหญ่ติดต่อทางการกิน น้ำลาย ปัสสาวะ และอุจจาระที่มีเชื้อ
การรักษา  ไม่มีการรักษาโดยเฉพาะ
การป้องกัน
1. ควรจะป้องกันโรคโดยการฉีดวัคซีน
2. การดูแลเอาใจใส่ลูกสุนัข ให้อาหารที่สะอาด

1.3 โรคลำไส้อักเสบ (Canine Viral Enteritis)
โรคลำไส้อักเสบเป็นติดต่อร้ายแรงของสุนัข เกิดจากเชื้อไวรัส โดยมีการระบาดอย่างกว้างขวางเมื่อปีพ.ศ.2521 ลักษณะจำเพาะของโรค คือ มีไข้ และแสดงอาการอาเจียนและท้องร่วงอย่างรุนแรงมาก

ลักษณะอาการ  สุนัขจะแสดงอาการฉับพลัน มีอาการซึม เบื่ออาหาร อุจจาระเหลว แล้วท้องร่วงอย่างรุนแรง อาการท้องร่วงอาจเกิดภายหลังการอาเจียนหรือเกิดพร้อมกัน การถ่ายอุจจาระจะถ่ายพุ่งรุนแรง ลักษณะของอุจจาระเป็นน้ำหรือน้ำปนเลือด อุจจาระมีกลิ่นเหม็นรุนแรง สุนัขจะมีอาการขาดน้ำอย่างรวดเร็ว และอาจตายได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
ในลูกสุนัขโดยเฉพาะในลูกสุนัขที่อายุต่ำกว่า 12 สัปดาห์จะทำให้มีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และทำให้ตายได้ทันทีโดยไม่แสดงอาการของลำไส้อักเสบ
การติดต่อ  สามารถติดต่อได้จากการสัมผัส หรือการใกล้ชิดกับอุจจาระของสัตว์ที่ป่วย เพราะในอุจจาระจะมีเชื้อไวรัสปนเปื้อนออกมาได้เป็นจำนวนมาก และเชื้อนี้จะยังมีความคงทนที่จะอยู่ในอุจจาระได้เป็นเวลานาน และสามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมได้นานหลายเดือน
การรักษา :- เจ้าของควรพาสุนัขของท่านไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคลำไส้อักเสบ ตามโปรแกรมวัคซีนที่กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแม่สุนัข ซึ่งมีผลถ่ายทอดภูมิคุ้มกันโรคมาทางน้ำนมเหลืองแรกคลอด และถ้าหากสุนัขตัวใดมีอาการของโรคดังกล่าว ควรที่จะรีบพาไปปรึกษาสัตวแพทย์ เพื่อรักการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องทำการฆ่าเชื้อบริเวณที่สุนัขอยู่ โดยใช้ความร้อนที่สูงกว่า 80 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 15 นาที หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่เหมาะสม

2. โรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ (Non-infectious disease)

2.1 โรคกระดูกอ่อน (Rickets)
เป็นโรคที่เกิดจากการขาดแคลนธาตุแคลเซี่ยมและฟอสฟอรัส หรือมีระดับของแคลเซี่ยม ฟอสฟอรัส และวิตามินดีที่ไม่สมดุล หรือลดลงจากปกติ อันมีสาเหตุมาจากอาหาร หรือการที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมเอาแร่ธาตุที่ได้รับไปใช้ได้
ลักษณะอาการ  จะมีการบิดโค้งของกระดูก เนื่องจากสารประกอบในกระดูกไม่เกิดการแข็งตัว ความแข็งแรงของกระดูกลดลงบิดโค้งออก โดยเฉพาะกระดูกขาหน้าส่วนปลาย ที่จะโค้งงอออกทางด้านข้างที่บริเวณข้อศอก และบิดเข้าด้านในบริเวณข้อเท้าขาหน้า
การป้องกัน  ลูกสุนัขกำลังเจริญเติบโต มีความต้องการแคลเซี่ยม และฟอสฟอรัสในปริมาณที่สูงกว่าสุนัขโตเต็มที่ถึง 2 เท่า โดยปกติสุนัขที่โตเต็มที่ต้องการแคลเซี่ยม 120 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 ปอนด์/วัน สุนัขโตเต็มที่ต้องการฟอสฟอรัส 100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 ปอนด์/วัน ร่วมกับการให้วิตามินดีขนาด 5 - 10 I.U./น้ำหนักตัว 1 ปอนด์ เพื่อช่วยให้การดูดซึมและการใช้แคลเซี่ยมดีขึ้น

2.2 Hypertrophic Osteodystrophy
เป็นโรคกระดูกที่พบมากในลูกสุนัขที่กำลังเจริญเติบโต มีอายุระหว่าง 4 - 8 เดือน โดยเฉพาะลูกสุนัขพันธุ์ใหญ่ สุนัขจะมีการบวมที่ส่วนปลายของกระดูก (Distal metaphyses of longbone) คลำดูจะพบว่าอุ่นและเจ็บปวดมาก จนทำให้สุนัขไม่อยากเคลื่อนไหว และพบว่ามีอาการไข้สูงเป็นครั้งคราว กระบวนการของโรคมักเกิดเป็นเวลานานและรุนแรง โรคจะทุเลาลง เมื่อลูกสุนัขโตเต็มที่ แต่ลักษณะความผิดปกติของกระดูกจะยังคงอยู่ต่อไป

2.3 โรคสะโพกลีบ (Hip Dysplasia)
เป็นโรคทางพันธุกรรม ซึ่งเกิดได้ในสุนัขพันธุ์ต่างๆได้แทบทุกพันธุ์ และพบมากในพันธุ์ Labrador retriever , Rottweiler , German shepherd , Boxer โดยเกิดได้ทั้งสองเพศ

ลักษณะอาการ อาการที่ปรากฎในลูกสุนัข หรือสุนัขรุ่นที่เป็นโรคสะโพกลียอย่างอ่อนจะไม่แสดงอาการให้เห็นชัดเจน การเติบโตอย่างรวดเร็ว ความอ้วน และการออกกำลังกายอย่างมากๆ จะทำให้แสดงอาการผิดปกติได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น สุนัขที่เป็นจะเดินลำบาก เดินกระเผลก (Lameness) ข้อแข็งตึง (Stiffness) และมีความเจ็บปวด มักพบในช่วงอายุ 6 - 12 เดือน บางตัวจะแสดงอาการเดินปัดของส่วนท้ายของลำตัว และอาจไม่มีความเจ็บปวดในระยะแรก

การรักษา
1. ห้ามออกกำลังกายมาก
2. ห้ามเดินบนพื้นที่ลื่น
3. ให้ยาลดการอักเสบ และยาลดความเจ็บปวด
4. ให้อาหารทีมีคุณค่า และไม่ทำให้สุนัขอ้วนจนเกินไป
5. ในรายที่เป็นรุนแรงมาก ควรปรึกษาสัตวแพทย์ เพื่อทำการผ่าตัดแก้ไข

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

0 comments:

Post a Comment